สรุปการประชุมสิทธิประโยชน์และการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี |
|
|
|
เขียนโดย เทิดศักดิ์ ทองแย้ม
|
วันอังคารที่ 02 สิงหาคม 2011 เวลา 10:15 น. |
ปัจจุบันบุคลากรภาครัฐของประเทศเรามีหลายประเภท มีทั้งข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายเฉพาะ พนักงานราชการ ในส่วนของมหาวิทยาลัย ก็มีพนักงานมหาวิทยาลัย ทั้งที่มีสัญญาจ้างระยะยาวและสัญญาจ้างระยะสั้น 1 ปี และจ้างกันปีต่อปี
พนักงานราชการ ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น ข้าราชการพันธุ์ใหม่ เกิดขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรี และจัดทำเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยพนักงานราชการ พ.ศ. 2547 เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐ จากการที่รัฐบาลไปกู้เงิน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ ปี 2540 ประเทศไทยถูกวิเคราะห์สถานะทางการเงิน ผลการวิเคราะห์พบว่าค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรภาครัฐสูง ต้องหาวิธีลดค่าใช้จ่ายลง รัฐบาลในขณะนั้นวางแผนลดกำลังคนภาครัฐ โดยจำกัดจำนวนให้น้อยลง และที่มีอยู่มากก็เข้าโครงการเกษียนก่อนกำหนด เพื่อลดบุคลากร ส่วนการที่กำลังคนต้องสอดคล้องกับปริมาณงาน การรับบุคลากรใหม่ใช้วิธีการจ้างเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการที่รัฐบาลต้องจ่ายให้กับบุคลากร โดยใช้ต้นแบบเหมือนกับพนักงานราชการ คือ เงินเดือนสูงกว่าข้าราชการ 1.3-1.7 เท่า (แล้วแต่ส่วนราชการแต่ละแห่งจะกำหนด) และต้องส่งประกันสังคมเพื่อรับสิทธิประโยชน์ 7 กรณี ได้แก่ 1. กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน 2. ทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน 3. คลอดบุตร 4. กรณีตาย 5. กรณีสงเคราะห์บุตร 6. กรณีชราภาพ 7. กรณีว่างงาน ทั้งหมดเป็นสิทธิที่ได้รับตามประกันสังคมซึ่งเกิดจากเงินที่หักจากรายได้ของบุคลากร ปัจจุบันอัตราร้อยละ 5 ของเงินเดือน

บุคลากรพันธุ์ใหม่ประเภทพนักงานที่อยู่ในส่วนราชการสวัสดิการและสิทธิประโยชน์จึงอยู่ในสภาพก้ำกึ่งจะหยิบเอากฎหมายและสิทธิประโยชน์ของข้าราชการมาใช้โดยอนุโลมก็ไม่ได้เพราะไม่ใช่ข้าราชการ จะหยิบเอากฎหมายและสิทธิประโยชน์แบบของลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน ของเอกชนมาใช้ก็ไม่ได้เพราะกฎหมายแรงงานไม่ใช้บังคับในส่วนราชการ ยกเว้นประกันสังคม สวัสดิการและความมั่นคงในชีวิตของบุคลากรประเภทนี้จึงมีความยืดหยุ่นสูงเป็นไปตามส่วนราชการแต่ละแห่งจะกำหนด มหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงมีแนวคิดดำเนินการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นสวัสดิการสร้างความมั่นคงและส่งเสริมการออมทรัพย์ของบุคลากร โดยวิธีการให้บุคลากรออกเงินส่วนหนึ่งเรียกว่า เงินสะสม มหาวิทยาลัยจ่ายเงินส่วนหนึ่งเรียกว่า เงินสมทบ จัดตั้งเป็นกองทุนเรียกว่ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ(ตามด้วยชื่อมหาวิทยาลัย) ผู้สมัครเป็นสมาชิกจะได้รับสิทธิประโยชน์เมื่อ 1. ตาย 2. ทุพพลภาพ 3. พ้นจากการเป็นพนักงาน 4. ลาออกจากการเป็นสมาชิกกองทุน อัตราเงินสะสมและเงินสมทบมีตั้งแต่ เงินสะสมร้อยละ 3 - เงินสมทบร้อยละ 3 ของเงินเดือนหรืออาจมากกว่าตามแต่จะตกลงกัน ส่วนการบริหารจัดการกองทุน จะต้องเป็นมืออาชีพที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ตามกฎหมาย สมาชิกอาจได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มจากดอกผลของกองทุนหรือการนำเงินกองทุนไปลงทุนโดยบริษัทจัดการหลักทรัพย์และอาจบริหารแบบกองทุนเดี่ยวของมหาวิทยาลัย หรือ จัดตั้งแล้วร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่งทั่วประเทศเพื่อความมั่นคงและอำนาจในการต่อรองในการลงทุน


มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี กำลังดำเนินการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี บุคลากรที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยทุกท่านพร้อมที่จะออมทรัพย์ของตนเองและรับสวัสดิการสิทธิประโยชน์นี้หรือยัง
ชมภาพอื่นๆ ของประชุม

|